10 อันดับ ธนาคาร เปิดบัญชีบริษัท ดีที่สุด

วันนี้ THAI BANK REVIEW มี10 อันดับ ธนาคารเปิดบัญชีบริษัทดีที่สุด บทความดี ๆ สำหรับเจ้าของกิจการที่เพิ่งเปิดบริษัทครั้งแรก แล้วต้องการเปิดบัญชีเงินฝากนิติบุคคล มาดูการจัดอันดับที่ THAI BANK REVIEW ได้รวบรวมข้อมูลมาฝากกันเพื่อประกอบการพิจารณากันค่ะ

  • บัญชีบริษัท / บัญชีธุรกิจ มีกี่ประเภท 
  • เอกสารการเปิดบัญชีบริษัท 
  • 10 อันดับ ธนาคารเปิดบัญชีบริษัทดีที่สุด

บัญชีบริษัท / บัญชีธุรกิจ มีกี่ประเภท 

  • บัญชีเงินฝากกระแสรายวัน 

เป็นบัญชีที่ใช้สำหรับหมุนเวียนธุรกิจ สามารถจัดการการเงินได้อย่างง่ายดาย สามารถสั่งจ่ายเช็คแทนเงินสดได้สะดวก เขียนสั่งจ่ายล่วงหน้าได้ไม่จำกัดจำนวนเงิน ง่ายต่อการบริหารบัญชี ทำให้ไม่ต้องพกเงินสดจำนวนมากที่เสี่ยงต่อการสูญหาย เหมาะสำหรับธุรกิจการค้าที่มีการรับ-จ่ายหมุนเวียนประจำ และในกรณี ที่สั่งจ่ายเช็คล่วงหน้าไปแล้ว ถึงเวลาจริงเงินไม่พอ ไม่สามารถยกเลิกได้ แต่สามารถทำการโอนเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ให้เพียงพอภายในวันสั่งจ่ายเช็ค หากบัญชีมีเงินไม่พอ จะถูกเรียกค่าปรับเช็คคืนนะคะ.

  • บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ 

เป็นบัญชีที่ใช้ฝาก ถอน โอน เพื่อความคล่องตัวของธุรกิจ สามารถทำรายการได้หลากหลาบช่องทาง เงินฝากได้รับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยจะได้รับดอกเบี้ยเข้าบัญชีทุกเดือนมิถุนายน และ เดือนธันวาคม สามารถชำระค่าสาธารณูปโภคผ่านการหักบัญชีอัตโนมัติ เพื่อป้องกันการลืมจ่าย  และยังใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อได้ด้วยโดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ จะได้รับการยกเว้นภาษีเมื่อจำนวนดอกเบี้ยที่ได้รับไม่เกิน 20,000  บาท/ปี หากเกินจะถูกหักภาษีในอัตรา 15% 

  • บัญชีเงินฝากประจำสำหรับธุรกิจ 

เป็นบัญชีสำหรับฝากเงินตามระยะเวลาที่ต้องการ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว สามารถเลือกกำหนดระยะเวลาที่ต้องการได้ 3 , 6 , 12 , 24 และ 36 เดือน ใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ หรือ ค้ำประกันเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินได้ ( เฉพาะบัญชีเงินฝากประจำ 12 เดือนขึ้นไป ) และยังวางในผลตอบแทนของอัตราดอกเบี้ย เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการฝากได้อีกด้วย โดยดอกเบี้ยที่ได้รับจากเงินฝากประจำ จะถูกหักภาษีในอัตรา 15% ของดอกเบี้ยที่ได้รับทั้งหมด . 

เอกสารการเปิดบัญชีบริษัท 

  • บริษัท จำกัด (บจก.) / บริษัท มหาชน จำกัด (บมจ.)

เอกสารของบริษัท 

  • หนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียน หุ้นส่วนบริษัท โดยมีรายละเอียดวัตถุที่ประสงค์แนบท้าย อายุไม่เกิน 3 เดือนนับจากวันที่ออกเอกสาร 
  • กรณีลงนามพร้อมประทับตรา 
    • รายการจดทะเบียนจัดตั้ง (บอจ.3) หรือ รายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติม (บอจ.4) กรณีมีแก้ไขรายการจดทะเบียนตราประทับ หรือ ข้อบังคับ สำหรับบมจ. ไม่กำหนดอายุเอกสาร
    • แสดงตราประทับตัวจริง 
  • บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ( บอจ.5 สำหรับบจก. หรือ บมจ.6 สำหรับบมจ. ) ไม่กำหนดอายุเอกสาร 
  • หนังสือมอบอำนาจผนึกอากรแสตมป์ 30 บาท ( กรณีผู้มีอำนาจลงนามสั่งจ่าย / ถอนเงิน ไม่ใช่ผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันนิติบุคคล )

 

  • เอกสารของผู้เกี่ยวข้องกับบริษัท 

สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ สำเนาหนังสือเดินทาง ( กรณีต่างชาติ ) ของบุคคลดังนี้ 

  • กรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันได้ ตามหนังสือรับรองข้อ 3
    • ผู้ลงนามเปิดบัญชี ขอให้มาแสดงตนและพิสูจน์ตัวตนที่สาขาของธนาคาร โดยจะต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง หรือ หนังสือเดินทางที่มีอายุไม่น้อยกว่า 30 วัน ฉบับจริง (กรณีชาวต่างชาติ)
  • ผู้มีอำนาจลงนามสั่งจ่าย / ถอนเงิน 
    • ผู้มีอำนาจลงนามสั่งจ่าย/ถอนเงิน ขอให้มาแสดงตนและพิสูจน์ตัวตนที่สาขาของธนาคาร โดยจะต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง หรือ หนังสือเดินทางที่มีอายุไม่น้อยกว่า 30 วัน ฉบับจริง (กรณีชาวต่างชาติ)
  • หุ้นส่วนผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 25% ขึ้นไป ตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น 
  • กรรมการผู้จัดการ หรือ ผู้บริหารสูงสุด 

หมายเหตุ 

ธนาคารอาจขอเอกสารอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาเปิดบัญชีเงินฝากนิติบุคคล หรือ อาจขอให้ลูกค้าติดต่อแก้ไขหนังสือรับรอง / เอกสารแสดงรายชื่อผู้มีอำนาจให้เป็นปัจจุบัน กรณีพบว่าเอกสารแสดงตนผู้เกี่ยวข้องของนิติบุคคล ไม่ตรงกับเอกสารของนิติบุคคล 

  • ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) / ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล (หสน.) 

เอกสารของบริษัท 

  • หนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท โดยมีรายละเอียดวัตถุที่ประสงค์แนบท้าย อายุไม่เกิน 3 เดือน นับจากวันที่ออกเอกสาร 
  • กรณีลงนามพร้อมตราประทับ 
    • รายการจดทะเบียน (หส.2) ไม่กำหนดอายุเอกสาร 
    • แสดงตราประทับตัวจริง 
  • หนังสือมอบอำนาจผนึกอากรแสตมป์ 30 บาท (กรณ๊ผู้มีอำนาจลงนามสั่งจ่าย/ถอนเงิน ไม่ใช่ผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันนิติบุคคล 

 

เอกสารของผู้เกี่ยวข้องกับบริษัท 

สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ สำเนาหนังสือเดินทาง (กรณีชาวต่างชาติ) ของบุคคลดังนี้ 

  • หุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งลงชื่อผูกพันห้างหุ้นส่วนได้ ตามหนังสือรับรองข้อ 4 หรือ ข้อ 7 (ถ้ามี) 
    • ผู้ลงนามเปิดบัญชีขอให้มาแสดงตน และพิสูจน์ตัวตนที่สาขาของธนาคาร โดยต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง หรือ หนังสือเดินทางที่มีอายุไม่น้อยกว่า 30 วัน ฉบับจริง (กรณีชาวต่างชาติ) 
  • ผู้มีอำนาจลงนามสั่งจ่าย / ถอนเงิน 
    • ผู้มีอำนาจสั่งจ่าย/ถอนเงิน ขอให้มาแสดงตน และพิสูจน์ตัวตนที่สาขาของธนาคาร โดยต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง หรือ หนังสือเดินทางที่มีอายุไม่น้อยกว่า 30 วัน ฉบับจริง (กรณีชาวต่างชาติ) 
  • หุ้นส่วนผู้ถือหุ้น ตั้งแต่ 25% ขึ้นไป ตามหนังสือรับรองข้อ 2 
  • กรรมการผู้จัดการ หรือ ผู้บริหารสูงสุด 

หมายเหตุ 

ธนาคารอาจขอเอกสารอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาเปิดบัญชีเงินฝากนิติบุคคล หรือ อาจขอให้ลูกค้าติดต่อแก้ไขหนังสือรับรอง / เอกสารแสดงรายชื่อผู้มีอำนาจให้เป็นปัจจุบัน กรณีพบว่าเอกสารแสดงตนผู้เกี่ยวข้องของนิติบุคคล ไม่ตรงกับเอกสารของนิติบุคคล 

10 อันดับ ธนาคารเปิดบัญชีบริษัทดีที่สุด

ก็พอจะทราบกันแล้วนะคะ ว่าบัญชีบริษัท บัญชีธุรกิจหรือนิติบุคคล มีกันกี่ประเภท แล้วเอกสารคร่าว ๆ ที่ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนไปเปิดบัญชีที่ธนาคารมีอะไรบ้าง ต่อไปเรามาดู 10 อันดับ ธนาคารเปิดบัญชีบริษัทดีที่สุด ที่ THAI BANK REVIEW ได้รวมข้อมูลบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ธุรกิจมาฝากกันค่ะ  

  • ธนาคารยูโอบี 

เป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ทำให้ธุรกิจประหยัดต้นทุน เพราะ ฟรี! ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมหลายอย่าง ทำให้ประหยัดกว่าบัญชีปกติมาก และยังสามารถรับดอกเบี้ยเงินฝากได้สูงถึง 2 เท่าของอัตราดอกเบี้ยปกติ

  • อัตราดอกเบี้ยต่อปี (บัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ UOB BizSuper) 

ยอดเงินฝากตั้งแต่ 1 บาท ถึง 300,000 บาทแรก ดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี 

ยอดเงินฝากส่วนที่เกิน 300,000 บาท ดอกเบี้ย 0.50% ต่อปี

ยอดเงินฝากส่วนที่เกิน 3,000,000 บาท ดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี

กรณีมียอดเงินฝากเฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 300,000 บาท ธนาคารจะคิดค่าธรรมเนียมรักษาบัญชี ตามที่ธนาคารกำหนดไว้ในประกาศของธนาคาร

 

  • ธนาคารกรุงไทย 

บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เพื่อความคล่องตัวทางการเงิน ฝาก-ถอนต่างสาขาได้ รับดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง โดยจะได้รับดอกเบี้ยเข้าบัญชีทุกเดือนมิถุนายน และ เดือนธันวาคม ของทุกปี

  • อัตราดอกเบี้ยต่อปี (บัญชีออมทรัพย์ นิติบุคคลทั่วไป) ทั้งจำนวน 0.550% ต่อปี

 

  • ธนาคารกรุงเทพ 

บัญชีเพื่อธุรกิจ บัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ เพื่อการบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างคล่องตัว สามารถฝากถอนโอนจ่ายได้หลายช่องทาง ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยจะได้รับดอกเบี้ยเข้าบัญชีทุกเดือนมิถุนายน และ เดือนธันวาคม สามารถตรวจสอบรายการเคลื่อนไหวบัญชีได้ที่เคาน์เตอร์สาขา 

  • อัตราดอกเบี้ยต่อปี (บัญชีเพื่อธุรกิจ บัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์) 

ยอดเงินฝากน้อยกว่า 10 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.60% ต่อปี 

ยอดเงินฝาก 10 ล้านบาทขึ้นไป ดอกเบี้ย 0.60% ต่อปี 


  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 

บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป ไม่มีกำหนดระยะเวลา สามารถทำการฝาก-ถอนเงินจากธนาคารได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เหมาะสำหรับเก็บออมเงิน ไม่ว่าจะเก็บออมเยอะแค่ไหน ก็เรทเดียวกันไม่มีปรับลด 

  • อัตราดอกเบี้ยต่อปี (บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ นิติบุคคล)

ยอดเงินฝากน้อยกว่า 10 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.50% ต่อปี 

ยอดเงินฝากตั้งแต่ 10 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 50 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.50% ต่อปี

ยอดเงินฝากตั้งแต่ 50 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 100 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.50% ต่อปี

ยอดเงินฝากตั้งแต่ 100 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 500 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.50% ต่อปี

ยอดเงินฝากตั้งแต่ 500 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 1,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.50% ต่อปี

ยอดเงินฝากตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 5,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.50% ต่อปี

ยอดเงินฝากตั้งแต่ 5,000 ล้านบาท ขึ้นไป ดอกเบี้ย 0.50% ต่อปี


  • ธนาคารออมสิน 

เป็นบัญชีเงินฝากเผื่อเรียก เพื่อการใช้จ่ายที่สะดวกและคล่องตัว  คิดอัตราดอกเบี้ยเป็นรายวัน โดยจะได้รับดอกเบี้ยเข้าบัญชีทุกเดือนมิถุนายน และ เดือนธันวาคม โดยหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามสรรพากรกำหนด ใช้เป็นบัญชีคู่โอนกับบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน และยังสามารถนำสมุดเงินฝาก ค้ำประกันเงินกู้หรือเบิกเงินเกินบัญชีได้อีกด้วย

  • อัตราดอกเบี้ยต่อปี (บัญชีเงินฝากประเภทเผื่อเรียก นิติบุคคล) 

ยอดเงินฝากน้อยกว่า 10 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.50% ต่อปี 

ยอดเงินฝาก 10 ล้านบาทขึ้นไป ดอกเบี้ย 0.55% ต่อปี 


  • ธนาคารกสิกรไทย 

เป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่สามารถฝาก ถอน โอน จ่าย ได้อย่างคล่องตัว ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถถอนเงินต่างสาขาได้ ไม่มีขั้นต่ำในการเปิดบัญชี ไม่มีกำหนดระยะเวลา และยังสามารถใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อได้อีกด้วย 

  • อัตราดอกเบี้ยต่อปี (บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ นิติบุคคลทั่วไป) ทั้งจำนวน 0.550% ต่อปี


  • ธนาคารไทยพาณิชย์ 

บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ (เผื่อเรียก) แบบมีสมุดคู่ฝาก และ ไม่มีสมุดคู่ฝาก (E Passbook) ฝาก ถอน โอนได้ทุกที่ทุกเวลาไม่จำกัดจำนวนครั้ง ได้ทุกช่องทางธนาคาร

  • อัตราดอกเบี้ยต่อปี (บัญชีออมทรัพย์ แบบมีสมุดคู่ฝาก)  ทั้งจำนวน 0.30% ต่อปี
  • อัตราดอกเบี้ยต่อปี (บัญชีออมทรัพย์ แบบไม่มีสมุดคู่ฝาก)  ทั้งจำนวน 0.65% ต่อปี


  • ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ 

บัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ธุรกิจคุ้มค่า (Biz Savings) เปิดบัญชีครั้งแรก ขั้นต่ำ 1 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยแบบรายเดือน โดยสามารถเบิกถอนดอกเบี้ยได้ทุกวันที่ 1 ของทุกเดือน ไม่กำหนดยอดคงเหลือขั้นต่ำในบัญชี ณ สิ้นวันทำการ และไม่จำกัดจำนวนครั้งในการเบิกถอน 

  • อัตราดอกเบี้ยต่อปี (บัญชีประเภทออมทรัพย์) ทั้งจำนวน 0.25% ต่อปี 


  • ธนาคารไทยเครดิต 

บัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ธุรกิจ Biz Plus บัญชีเงินฝากเพื่อธุรกิจที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูง พร้อมรับดอกเบี้ยทุกเดือน ไม่มีข้อจำกัดในการฝากถอน เหมาะสำหรับออมเงินเน้นผลตอบแทนสูง และดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝากยังได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีตามเงื่อนไขที่สรรพากรกำหนดด้วย 

  • อัตราดอกเบี้ยต่อปี (บัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ธุรกิจ Biz Plus)

ยอดเงินฝากน้อยกว่า 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.00% ต่อปี (ทั้งจำนวน)

ยอดเงินฝากตั้งแต่ 1 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 20 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1.30% ต่อปี (ทั้งจำนวน) 

ยอดเงินฝากตั้งแต่ 20 ล้านบาท ถึง 50 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1.75% ต่อปี (ทั้งจำนวน) 

ยอดเงินฝากส่วนเกินจาก 50 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.40% ต่อปี (เฉพาะส่วนเกิน)

โดยมีเงื่อนไขหากบัญชีไม่มีความเคลื่อนไหว 1 ปีขึ้นไป (ใช้หลักเกณฑ์ 1 ปี มี 365 วัน) และมียอดคงเหลือในบัญชีต่ำกว่า 500 บาท จะมีค่าธรรมเนียมรักษาบัญชี 50 บาท ต่อเดือน 


  • ธนาคารทหารไทยธนชาต

บัญชีธุรกิจทีทีบี เอสเอ็มอีวันแบงค์ (ttb sme one bank) เป็นบัญชีบริษัท ประหยัดต้นทุน ทำธุรกรรมฟรี สามารถทำรายการ โอน จ่าย ข้ามธนาคาร ข้ามเขตได้โยไม่มีค่าธรรมเนียม ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ไม่จำกัดจำนวนเงิน จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากคำนวณดอกเบี้ยทุกวัน โดยรับดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง คือ เดือนมิถุนายน และ เดือนธันวาคม หากดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี ธนาคารจะไม่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามหลักเกณฑ์ของสรรพากร

นี่เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งของ 10 อันดับ ธนาคารเปิดบัญชีบริษัทดีที่สุด ที่ THAI BANK REVIEW ได้จัดอันดับโดยอ้างอิงจากบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ นิติบุคคลเป็นหลัก โดยใช้อัตราดอกเบี้ย และ สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากธนาคารเป็นเกณฑ์ หากเพื่อน ๆ สนใจแนะนำให้ศึกษาเงื่อนไขทั้งหมดของธนาคารอีกครั้ง ตรวจสอบอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขของธนาคาร รวมถึงเอกสารที่ใช้ในการเปิดบัญชี ที่แต่ละธนาคารอาจจะแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้เงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนดนะคะ.