วันนี้ THAI BANK REVIEW พามาส่องผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ไทย กับ 10 อันดับ ธนาคารไทยที่รายได้มากที่สุด มาดูกันว่าผลประกอบการ ครึ่งปี 2567 ของแต่ละธนาคารที่ได้ทยอยประกาศผลการดำเนินงานงวดครึ่งปีแรก 2567 กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีแนวโน้มไปในทิศทางใดกันบ้าง โดยธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) บริษัท เอสซีบี เอกซ์ (SCB) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ธนาคารทิสโก้ (TISCO) ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LHFG) และธนาคารไทยเครดิต (CREDIT)
- รายได้ของธนาคารมาจากไหน ?
- 10 อันดับ ธนาคารไทยที่รายได้มากที่สุด (ช่วงไตรมาส 2/2567)
รายได้ของธนาคารมาจากไหน ?
ธนาคารพาณิชย์ หรือแบงก์ที่เราไปฝาก-ถอนเงินกันในชีวิตประจำวัน ทำหน้าที่ระดมเงินฝากจากประชาชน เพื่อให้ภาคเอกชนนำเงินส่วนนี้ไปดำเนินธุรกิจ เพิ่มสภาพคล่อง และส่งผลต่อเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวในที่สุด นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังให้บริการด้านอื่น ๆ เช่น รับชำระค่าบริการ ให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือให้คำแนะนำด้านการลงทุน
โดยรายได้จากธนาคารพาณิชย์จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. รายได้จากดอกเบี้ย มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับการขยายตัวของสินเชื่อ ทิศทางของดอกเบี้ยนโยบายและค่าใช้จ่ายสำรองและ 2. รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยมาจากสินทรัพย์ที่ธนาคารลงทุนอยู่ วัดจากมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL) ตามสภาวะตลาด เช่น ตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชน ตราสารทุน เป็นต้น
1. รายได้จากดอกเบี้ยเงินกู้
รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ มีสัดส่วนประมาณ 60-80% ของรายได้ธนาคาร เป็นรายการที่สะท้อนถึงความสามารถในการหารายได้หลักของธนาคาร จากส่วนต่างระหว่างรายได้ดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินให้สินเชื่อ กับค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่เกิดจากเงินรับฝาก เป็นรายได้จากการนำเงินฝากไปปล่อยกู้ให้กับบุคคลที่ต้องการกู้ยืมเงินไปใช้ ซึ่งทางธนาคารนำไปปล่อยกู้ เรียกว่า สินเชื่อ เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อบัตรเครดิต โดยปล่อยกู้ให้ทั้งบุคคลทั่วไปและภาคธุรกิจ
ดังนั้น ดอกเบี้ยเงินกู้ คือ รายได้ที่เกิดจากส่วนต่างระหว่าง ดอกเบี้ยเงินกู้ – ดอกเบี้ยเงินฝาก = ดอกเบี้ยสุทธิ (Net interrest Margin) ซึ่งเป็นรายได้ของดอกเบี้ยธนาคารนั่นเอง
2. รายได้จากค่าธรรมเนียมและค่าบริการต่าง ๆ
รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ มีสัดส่วนประมาณ 10-30% ของรายได้ธนาคาร เป็นรายได้จากการให้บริการหรือทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมเปิดบัญชี ค่าธรรมเนียมการโอน ค่าธรรมเนียมทำบัตร ATM ค่าธรรมเนียมจัดการกองทุน ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต ค่าธรรมเนียมสินเชื่อ ค่าธรรมเนียมในการประเมินสินทรัพย์ ค่าธรรมเนียมการรับอาวัลตั๋วเงิน และอื่น ๆ ซึ่งค่าธรรมเนียมเหล่านี้ หากเราคิดต่อผลิตภัณฑ์จะไม่ได้เยอะมากมายนัก แต่สำหรับลูกค้าบางรายก็อาจจะเสียค่าธรรมเนียมหลายพันบาทต่อปี ซึ่งเมื่อรวมกันหลายล้านคน ตามจำนวนลูกค้าของธนาคารก็ถือว่าเป็นรายได้หลักที่มากพอสมควร โดยสัดส่วนของค่าธรรมเนียมแต่ละธนาคารจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับรูปแบบการดำเนินธุรกิจของธนาคารนั้น ๆ ซึ่งค่าธรรมเนียมที่น่าสนใจ ก็คือ ค่าธรรมเนียมจากบริษัทต่าง ๆ ที่ใช้บริการกับธนาคาร ซึ่งบัญชีบริษัทส่วนมากก็จะมีค่าธรรมเนียม เช่น การโอนเงินเดือนให้กับพนักงาน ที่ต้องทำทุกเดือน หรือกรณีบริษัทจะให้ลูกค้ารูดบัตรเครดิตเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการ ก็ต้องมีค่าธรรมเนียมเหล่านี้ ที่ธนาคารเรียกเก็บจากการให้บริการหรือทำธุรกรรมต่าง ๆ
3. รายได้อื่น
รายได้อื่น ๆ นี้ ไม่ใช่รายได้ที่เกิดจาการประกอบธุรกิจหลักของธนาคาร แต่เป็นรายได้จากธุรกิจอื่น เช่น รายได้จากธุรกิจประกัน รายได้ค่านายหน้าค้าหุ้น รายได้จาการหมุนเงินฝากไปลงทุนต่าง ๆ กำไร (ขาดทุน) จากการปริวรรตเงินตราต่างประเทศ จากเงินลงทุนในหลักทรัพย์ เงินลงทุนในลูกหนี้การขายทรัพย์สินรอการขาย
4. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายพนักงาน และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคารสถานที่และอุปกรณ์
5. ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
เป็นรายการกันเงินสำรองของธนาคารเพื่อรองรับผลเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากสินทรัพย์และภาระผูกพัน เช่น เงินให้สินเชื่อ ซึ่งเป็นความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (Expected Loss: EL) จากการที่ลูกหนี้อาจไม่สามารถชำระคืนได้ เพื่อให้เงินสำรองของธนาคารสะท้อนความเสี่ยงด้านเครดิตตลอดอายุของลูกหนี้
อย่างไรก็ดี ตัวเลขรายการนี้อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามแนวโน้มความเสี่ยงของสินเชื่อหรือแนวโน้มที่จะกลายเป็นหนี้เสีย (NPL) ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น หรือผลจากสภาวะเศรษฐกิจที่กระทบต่อสินเชื่อ
6. ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย
เช่น จ่ายดอกเบี้ยเงินรับฝาก ตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม และเงินนำส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือเงินนำส่งกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เป็นต้น
10 อันดับ ธนาคารไทยที่รายได้มากที่สุด (ช่วงไตรมาส 2/2567)
1. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK
ครึ่งปี 2566 21,735 ล้านบาท
ครึ่งปี 2567 26,139 ล้านบาท
กำไรสุทธิครึ่งปีแรก อยู่ที่ 26,139 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ +20.3 จากช่วงปีก่อน
“ธนาคารกสิกรไทย สำหรับงวด 6 เดือน ปี 2567 กำไรสุทธิจำนวน 26,139 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 20.3% เนื่องจากรายได้การดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ที่เติบโตสูงกว่าค่าใช้จ่าย จากการที่ธนาคารบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า ทำให้อัตราค่าใช้จ่ายจาการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้ อยู่ที่ 42.35% ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน”
2. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB
ครึ่งปี 2566 20,223 ล้านบาท
ครึ่งปี 2567 22,274 ล้านบาท
กำไรสุทธิครึ่งปีแรก อยู่ที่ 22,274 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ +10 จากช่วงปีก่อน
“ ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกปี 2567 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 22,274 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 โดยเป็นรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.9% รวมถึงการขยายตัวของรายได้ค่าธรรมเนียม และการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ Cost to income ratio เท่ากับ 42.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน ”
3. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL
ครึ่งปี 2566 21,423 ล้านบาท
ครึ่งปี 2567 22,230 ล้านบาท
กำไรสุทธิครึ่งปีแรก อยู่ที่ 22,230 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ +4.2 จากช่วงปีก่อน
“สำหรับงวด 6 เดือน ปี 2567 กำไรสุทธิจำนวน 22,230 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 จากงวดเดียวกันปีก่อน โดยมีดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 ตามการเติบโตของเงินการให้สินเชื่อและการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่เกิดรายได้ และรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนที่ยังเติบโตได้ดี โดยที่ค่าใช้จ่ายนการดำเนินงานอยู่ในระดับเดียวกับปีก่อน”
4. ธนาคารไทยพาณิชย์ (บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน)) หรือ SCB
ครึ่งปี 2566 22,864 ล้านบาท
ครึ่งปี 2567 21,295 ล้านบาท
กำไรสุทธิครึ่งปีแรก อยู่ที่ 21,295 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -7% จากช่วงปีก่อน
“ ในไตรมาสที่2 ของปี 2567 มีกำไร 21,295 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับปีก่อน การลดลงมีผลมาจากหลายปัจจัย ทั้งค่าใช้จ่ายครั้งเดียวจากการยุติแอปพลิเคชั่น Robinhood และการจัดเงินสำรองเพิ่มเติมสำหรับลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ และรายได้จากค่าธรรมเนียมที่ลดลง ”
5. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY
ครึ่งปี 2566 17,102 ล้านบาท
ครึ่งปี 2567 15,752 ล้านบาท
กำไรสุทธิครึ่งปีแรก อยู่ที่ 15,752 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -7.9% จากช่วงปีก่อน
“ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน มีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงานในประเทศ ตามการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย และการรับรู้รายได้เต็มจำนวนจากบริษัทลูกในภูมิภาคอาเซียนที่ได้ควบรวมมาในปี 2566 การเพิ่มขึ้นของผลกำไรขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จากการตั้งสำรองด้วยความรอบคอบระมัดระวัง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในต่างประเทศ และ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในประเทศ ทำให้กำไรสุทธิลดลง ร้อยละ 7.9 จากปี 2566 ส่งผลให้มีกำไรสุทธิในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 อยู่ที่จำนวน 15,752 ล้านบาท”
6. ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB
ครึ่งปี 2566 8,861 ล้านบาท
ครึ่งปี 2567 10,689 ล้านบาท
กำไรสุทธิครึ่งปีแรก อยู่ที่ 10,689 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ +20.6 จากช่วงปีก่อน
“ สำหรับรอบ 6 เดือน ปี 2567 กำไรสุทธิอยู่ที่ 10,689 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีก่อน ธนาคารยังคงรักษาสมดุลด้านสินเชื่อและการเติบโตของฐานเงินฝากเพื่อรองรับสภาพคล่อง โดยยังคงดำเนินแผนการขยายฐานสินเชื่อรายย่อยที่ให้ผลตอบแทนสูงตามแผนที่กำหนดไว้ นำโดยสินเชื่อรถแลกเงิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 , สินเชื่อบ้านแลกเงิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 , สินเชื่อบุคคล เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 และสินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ”
7. ธนาคารทิสโก้ (บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)) หรือ TISCO
ครึ่งปี 2566 3,646 ล้านบาท
ครึ่งปี 2567 3,482 ล้านบาท
กำไรสุทธิครึ่งปีแรก อยู่ที่ 3,482 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -4.5% จากช่วงปีก่อน
“ ผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2567 มีจำนวน 3,482 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับงวดครึ่งปีแรกของปี 2566 สาเหตุหลักมาจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่เพิ่มสูงขึ้น ”
8. ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP
ครึ่งปี 2566 3,493 ล้านบาท
ครึ่งปี 2567 2,275 ล้านบาท
กำไรสุทธิครึ่งปีแรก อยู่ที่ 2,275 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -34.9% จากช่วงปีก่อน
“ งวดครึ่งปีแรก ปี 2567 มีจำนวน 2,275 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 34.9 จากงวดเดียวกัน ปี 2566 โดยหลักจาการลดลงในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ เป็นผลมาจากการลดลงของรายได้ค่านายหน้าประกันตามสินเชื่อปล่อยใหม่ที่ชะลอตัวลง ในขณะที่สภาวะตลาดทุนไม่เอื้อ ”
9. ธนาคารซีไอเอ็มบี(ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CIMB
ครึ่งปี 2566 1,294 ล้านบาท
ครึ่งปี 2567 1,369 ล้านบาท
กำไรสุทธิครึ่งปีแรก อยู่ที่ 1,369 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ +5.4% จากช่วงปีก่อน
“ ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือน มีกำไรสุทธิจำนวน 1,369 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 จากงวดเดียวกันปี 2566 ธนาคารมีเงินฝาก รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์การเงินบางประเภทที่เพิ่มขึ้น”
10. ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) หรือ CREDIT
ครึ่งปี 2566 1,830 ล้านบาท
ครึ่งปี 2567 1,269 ล้านบาท
กำไรสุทธิครึ่งปีแรก อยู่ที่ 1,269 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -30.6% จากช่วงปีก่อน
“ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ลดลงร้อยละ 30.6 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับการเติบโตของเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ และการเพิ่มขึ้นของเงินสินเชื่อชั้น2 มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จาก ธปท. แต่ยังเป็นไปตามการคาดการของธนาคาร อัตราค่าเผื่อขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้วยคุณภาพ เท่ากับ ร้อยละ 147.1 ”
ทั้งนี้ ไตรมาสที่ 2 ปี 2567 กำไรรวม 126,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% หากเทียบกับ2566 โดยธนาคารที่เติบโตโดดเด่นที่สุดในไตรมาสนี้ ธนาคารที่มีกำไรสูงสุดในไตรมาส 2/2567 จะเป็นธนาคารกสิกรไทย อยู่ที่ 26,139 ล้านบาท รองลงมาธนาคารกรุงไทย 22,274 ล้านบาท และตามมาด้วยธนาคารกรุงเทพ 22,230 ล้านบาท และหากดูกำไรสุทธิงวดครึ่งปีแรก เมื่อเทียบกับปี 2566 ธนาคารที่มีการเติบโตของกำไรสูงสุด คือ ธนาคารธนาคารทหารไทยธนชาต กำไรเพิ่มขึ้น 20.6% รองมาเป็นธนาคารกสิกรไทย กำไรเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20.3% และธนาคารกรุงไทย เพิ่มขึ้น 10% ในทางกลับกัน ธนาคารที่กำไรลดลงมากที่สุด คือ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร โดยกำไรลดลง 34.9% มาอยู่ที่ 2,275 ล้านบาท จาก 3,493 ล้านบาท จากแรงกดดันด้านภาระการตั้งสำรองที่สูงขึ้น จากการระมัดระวังความเสี่ยงจากสินเชื่อเช่าซื้อที่สูงขึ้น ถัดมาคือธนาคารไทยเครดิต กำไรลดลง 30.6% มาอยู่ที่ 1,269 ล้านบาท และ ธนาคารไทยพาณิชย์ กำไรลดลง 7.9% มาอยู่ที่ 15,752 ล้านบาท โดยกำไรของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ที่ลดลง หลักๆ ยังคงมาจาก ภาระสำรองหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้นบวกกับรายได้ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ปรับตัวลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว.
สรุป
ในภาพรวมกำไรในไตรมาส 2/2567 กับการจัดอันดับของ THAI BANK REVIEW 10 อันดับ ธนาคารไทยที่รายได้มากที่สุด พบว่าเป็นช่วงที่ธนาคารส่วนใหญ่สามารถสร้างการเติบโตได้ดี เนื่องจากเป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นความท้ามายของในช่วงนี้ คือ รายได้จากค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากเงินฝาก เนื่องด้วยภาพรวมเศรษฐกิจยังมีความท้าทาย และ ขาดปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับยังมีความเสี่ยงในด้านสินเชื่อ และตัวเลขของหนี้เสีย NPLs ผลการดำเนินงานของไตรมาสนี้ จึงสะท้อนให้เห็นว่าธนาคารสามารถรับมือกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่สร้างแรงกดดันทั้งด้านรายได้และคุณภาพสินทรัพย์ได้เป็นอย่างดี โดยการมุ่งเน้นการบริหารความเสี่ยงและต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีการเติบโตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ถึง 3.5%
ที่มา : ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)